นิทรรศการ บางกอกหลอกชั้น

นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers) ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Topography of Mirror Cities บริหารและดำเนินโครงการฯ โดย Sandy Hsiu-chih Lo ภัณฑารักษ์กลาง (Chief Curator) ได้รับทุนสนับสนุนจาก National Culture and Arts Foundation กระทรวงวัฒนธรรม รัฐบาลไต้หวัน โดยเธอได้เชื้อเชิญภัณฑารักษ์จาก 6 ประเทศร่วมนาเสนอภาพสะท้อนของสถานที่ในแต่ละเมืองสำคัญ ให้กลายเป็นพื้นที่ของการศึกษา ผ่านสนามทางทัศนศิลป์และรูปแบบนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ภัณฑารักษ์ทั้ง 6 ท่านได้แก่

1. Lian Heng Yoeh ประเทศมาเลเชีย นำเสนอโครงการ History-Community-Identity ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
2. Vuth Lyno, Pen Sereypagna ประเทศกัมพูชา นำเสนอโครงการ Geo-body ที่กรุงพนมเปญ
3. Ade Darmawan ประเทศอินโดนีเชีย นำเสนอโครงการ Mass Rapid Mobility ที่กรุงจาการ์ตา
4. Jiandyin (จิระเดชและพรพิไล มีมาลัย) ประเทศไทย นำเสนอโครงการ บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers) ที่กรุงเทพฯ
5. Mahbubur Rahman ประเทศบังกลาเทศ นำเสนอโครงการ City of the Book ที่กรุงธากา
6. Manray Hsu สาธารณรัฐไต้หวัน นำเสนอโครงการ Herbal Urbanism ที่กรุงไทเป

นิทรรศการฯ ครั้งนี้มุ่งพิจารณาและตีความข้ามกรอบความรู้ทางปรากฏการณ์วิทยาด้านสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับกาล-เทศะและประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งมีความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างอดีต ปัจจุบัน และการคาดการณ์อนาคต ผ่านการปฏิบัติและสนามทางศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบของการศึกษาค้นคว้า เพื่อสะท้อนแนวทางการสร้างกรอบความรู้ใหม่ขึ้นมาแทนที่กรอบความรู้เดิม ด้วยการสร้างบทสนทนาในนิทรรศการฯผ่านการตั้งคำถามตามหรือคำถามแย้ง ที่ท้าทายความคาดหวังทั้งจากผู้ชมและศิลปิน/ผู้เชี่ยวชาญที่สร้างผลงาน นำเสนอทัศนะและทัศนียภาพองค์รวมที่มีความหลากหลายในรูปแบบและวิธีวิทยาตามประเด็นที่กำหนด เพื่อสร้างประสบการณ์การรับรู้ การส่องสว่างและเปิดช่องที่ซ้อนทับกันหลายเชิงชั้นของความหมายในกรอบความรู้กระแสหลัก และเป้าหมายในการแสวงหาโครงสร้างความคิดในระดับจุลภาคของสังคม ด้วยการสร้างนิยามใหม่ในพื้นที่ทางทัศนศิลป์เชิงสหวิทยาการประสานเข้ากับศาสตร์ความรู้อื่นๆ ในฐานะของงานสร้างสรรค์ และตัวเร่งปฏิกิริยาที่ยังผลให้เกิดการตีความทางสังคม อันเป็นกรอบความรู้ที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงแปรรูปไปตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งมีพัฒนาการแบบไม่ต่อเนื่องต่างจากสายโซ่ที่ร้อยต่อเชื่อมกันโดยไม่ขาดห้วง ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ในปรากฏการณ์จึงมีคุณค่าอย่างมากสำหรับการศึกษา โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของแรงกระทำซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจตรรกะที่ดำรงอยู่ในปรากฏการณ์นั้นได้โดยตรง การสนับสนุนและสร้างความเข้าใจที่เปิดกว้างนั้นสามารถเพิ่มศักยภาพต่อการตีความ ซึ่งบ่อยครั้งเปิดโอกาสให้ศิลปิน/ผู้เชี่ยวชาญและผู้ชมมีส่วนร่วมกันสร้างแบบแผนการบรรเทาความคลาดเคลื่อน ที่มักเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาด้านสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาแบบโครงสร้างนิยม ซึ่งยึดถือกรอบความรู้ที่แข็งขืนลดทอนและปฏิเสธความเป็นอื่น